อุทยานธรณี ลำปาง (Lamphang Geopark)
อุทยานธรณีลำปาง (Lamphang Geopark) มีพื้นที่อยู่ในเขต 7 อำเภอของจังหวัดลำปาง ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอแม่เมาะ อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว อำเภอแม่ทะ และอำเภอเมืองปาน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยมีเป้าหมายจะก้าวสู่อุทยานธรณีระดับประเทศ ตามหลักการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่มีชุมชนเป็นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีพื้นที่ 2,653 ตารางกิโลเมตร
ความสำคัญโดดเด่นทางธรณีวิทยา
- วิวัฒนาการแผ่นดินของอุทยานธรณีลำปาง จากท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยากลายมาเป็นแอ่งทะเลสาบน้ำจืดอันอุดมสมบูรณ์
- ชั้นหอยน้ำจืดหนาที่สุดในโลก พบที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ หนากว่า 6-12 เมตร เป็นหลักฐานอ้างอิงเรื่องสภาพแวดล้อมโบราณของโลก เมื่อ 13 ล้านปีก่อน
- มีความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำนวนมาก อาทิ ช้างสี่งากอมโฟธีเรียม หมาหมีแม่เมาะ และทาร์เซียสิรินธร โดยเฉพาะทาร์เซียสิรินธรเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นไพรเมตที่มีลักษณะดึกดำบรรพ์ แต่อยู่ร่วมสายพันธุ์เดียวกับไพรเมตชั้นสูงพวกเอป และมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของ เต่า จระเข้ และสัตว์กัดแทะขนาดเล็ก
- แหล่งภูเขาไฟโบราณ โดยพบลักษณะของปากปล่องภูเขาไฟที่ยังคงหลงเหลือสภาพจากการปะทุเมื่อประมาณ 0.5 – 0.8 ล้านปีก่อน จะเห็นเป็นแอ่งรูปวงกลมชัดเจนเมื่อมองจากมุมสูง คือ ดอยผาคอกหินฟู และดอยผาคอกจำปาแดด
- ไดอะทอไมต์ จังหวัดลำปางเป็นแหล่งไดอะทอไมต์หรือดินเบาแหล่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กมาก อาศัยอยู่ในน้ำ เรียกว่า ไดอะตอม เมื่อไดอะตอมตายลง เปลือกที่เป็นซิลิกาจะตกเป็นตะกอนสะสมกันเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นแหล่งไดอะตอม มีลักษณะร่วนซุย เบา เนื้อพรุน คล้ายชอล์ก ใช้ประโยชน์ในการเป็นส่วนผสมทำกระดาษสา เพื่อให้เนื้อกระดาษแน่นเนียน เป็นฉนวนและเป็นสารที่ใช้ในการกรองได้ดี เช่น กรองน้ำตาลและสารกรองอื่น ๆ ใช้ขัดภาชนะโลหะ
ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
– ศึกษา สำรวจ และจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหา Geological significance เพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนความเป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นทางธรณี
– พิจารณาแหล่งธรณีวิทยาและความโดดเด่นทางธรณีของอุทยานธรณีลำปาง
– เผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีวิทยา เช่น จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่แนะนำอุทยานธรณีลำปางให้เป็นที่รู้จัก จัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จัดมหกรรมเปิดโลกอุทยานธรณีลำปาง
– ประสานขับเคลื่อนอุทยานธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
-------------------------
ที่มา
- https://thailandgeoparks.org/
- http://www.globalgeopark.org
- https://www.unesco.org/en/mab/wnbr/
รวบรวมรูปภาพ
-------------------------
-------------------------